คำอธิบายของพรรณไม้

 พรรณไม้ : สำโรง

   ชื่อสามัญ

Bastard poom, Pinari

   ชื่อวิทยาศาสตร์

Sterculia foetida L.

   ชื่อวงศ์

STERCULIACEAE

   ชื่ออื่น ๆ

จำมะโฮง (เชียงใหม่) โหมโรง (ใต้) มะโรง มะโหรง (ปัตตานี)

   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงได้ถึง 30 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดรูปไข่ถึงทรงกระบอก ลำต้นเปลาตรง โคนมีพูพอนต่ำ ๆ เปลือกเรียบสีน้ำตาลปนเทา
ใบ ใบประกอบรูปนิ้วมือ กางแผ่ออกจากจุดเดียวกัน เรียงเวียนจากจุดเดียวกัน เรียงเวียนตอนปลายกิ่ง ใบย่อย 5-7 ใบ รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 3.5-6 เซนติเมตร ยาว 10-30 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือมีติ่งแหลม โคนใบรูปลิ่ม แผ่นใบหนา ใบเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ 17-21 เส้นก้านใบประกอบยาว 13-20 เซนติเมตร ก้านใบย่อยยาว 3-5 เซนติเมตร
ดอก ดอกสีแดงหรือสีแสด มีกลิ่นเหม็นมากออกรวมเป็นช่อ แบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง หรือซอกใบ ปลายกิ่งช่อดอกยาว 10-30 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ปลายม้วนออก ดอกบานเต็มที่ กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ออกดอก ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม
ผล ผลแห้ง แตกรูปไตเปลือกแข็งเหมือนไม่ สีแดงปนน้ำตาล ผิวมันและเกลี้ยง เมื่อแก่แตกเป็นสองซีกกว้าง 6-9 เซนติเมตร ยาว 8-10 เซนติเมตร เมล็ดสีดำมันรูปขอบขนาน กว้าง 0.3 เซนติเมตร ยาว 2.5 เซนติเมตร ติดผลช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน

   ถิ่นกำเนิด

เอเชียเขตร้อน

   การขยายพันธ์

เพาะเมล็ด

   การนำไปใช้ประโยชน์

1. ปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีรูปทรงของลำต้นเปลาตรง มีเรือนยอดเป็นเหมือนร่ม พุ่มใบหนาทึบ กิ่งก้านแตกตั้งฉากกับลำต้นจากจุดเดียวกันเป็นฉัตร รูปใบดูแปลกตาและให้สีสันสวยงาม ใบอ่อนมีสีน้ำตาลแดง เมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียว พอใบใกล้ร่วงจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองสดใส อีกทั้งยังมีผลแก่สีแดงที่ดูเด่นสวยงามและแปลกตา โดยทั่วไปแล้วมักนิยมปลูกไว้ตามริมถนน โรงเรียน หรือในวัด และยังจัดเป็นไม้ป่าที่หายากขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะไม่นิยมมาปลูกไว้ในบริเวณที่พักอาศัย เพราะดอกมีกลิ่นเหม็น 2. เนื้อไม้สำโรง เป็นไม้เนื้ออ่อน นำมาไสกบและตกแต่งได้ง่าย จึงเหมาะสำหรับนำมาใช้ทำเครื่องเรือน หีบใส่ของ หูกทอผ้า ไม้จิ้มฟัน ก้านและกลักไม้ขีดไฟ และไม้อัดได้ 2. เปลือกสามารถนำมาใช้ทำเชือกอย่างหยาบ ๆ ได้ 3. น้ำมันจากเนื้อในเมล็ดสามารถนำมาใช้ในการปรุงอาหารและจุดไฟได้ 4. ผลมีรสหวานและใช้รับประทานได้

   สรรพคุณ

1. เปลือกต้น รสฝาดสุขุม ใช้ขับเสมหะ แก้บิด แก้โลหิตและลมพิการ 2. ใบ ใช้เป็นยาระบาย 3. ผล รสฝาด สมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้ไตพิการ ท้องร่วง 4. เปลือกฝัก รสฝาด เผาเป็นด่าง รับประทาน แก้โรคไตพิการ แก้ลำไส้พิการ ปัสสาวะขัด