คำอธิบายของพรรณไม้
พรรณไม้ : เหรียง
Nitta tree
Parkia timoriana (DC.) Merr.
LEGUMINOSAE
กะเหรี่ยง เรียง สะเหรี่ยง สะตือ (ภาคใต้), นะกิง นะริง (ภาคใต้-มาเลย์), เรียง เหรียง
ลำต้น ไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดกลาง มีลำต้นเป็นเปลาตรง มีความสูงได้ถึง 50 เมตร มีพูพอนสูงถึง 6 เมตร เปลือกต้นเรียบ ที่กิ่งก้านมีขนปกคลุมขึ้นอยู่ประปราย
ใบ ก้านใบยาวประมาณ 4-12 เซนติเมตร มีต่อมเป็นรูปมนยาว 3.5-5 มิลลิเมตร อยู่เหนือโคน ส่วนก้านแกนช่อใบจะยาวประมาณ 25-40 เซนติเมตร มีช่อใบแขนงด้านข้างประมาณ 18-33 คู่ ใต้รอยต่อของก้านช่อใบแขนงด้านข้างมักมีต่อมเล็ก ๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนช่อแขนงยาวประมาณ 7-12 เซนติเมตร ในแต่ละช่อมีใบย่อยประมาณ 40-70 คู่ โดยใบย่อยมีลักษณะเป็นรูปขอบขนานแคบ มีความกว้างประมาณ 5-7 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1.5-1.8 มิลลิเมตร ส่วนปลายใบแหลมโค้งไปทางด้านหน้า ฐานใบมักยื่นเป็นติ่งเล็กน้อย เส้นแขนงของใบด้านข้างไม่ปรากฏชัดเจน
ดอก ออกดอกเป็นช่อกลม มีขนาดของดอกกว้างประมาณ 2 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5 เซนติเมตร มีก้านช่อดอกยาวประมาณ 20-25 เซนติเมตร ส่วนก้านดอกย่อยมีก้านดอกสั้น ๆ และมีใบประดับยาวประมาณ 4-10 มิลลิเมตรรองรับกลีบรอง กลีบดอกของดอกสมบูรณ์เพศเชื่อมติดกันเป็นหลอด โดยจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม
ผล ผลเป็นฝักกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตรและยาวประมาณ 22-28 เซนติเมตร ตัวฝักตรงไม่บิดเวียนเหมือนกับสะตอบางพันธุ์ และเมล็ดก็ไม่นูนอย่างชัดเจน ฝักเมื่อแก่เต็มที่เปลือกจะแข็งและมีสีดำ ในแต่ละฝักจะมีเมล็ดลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดประมาณ 11 x 20 เซนติเมตร หนึ่งฝักมีเมล็ดประมาณ 20 เมล็ด โดยจะออกผลหรือฝักในช่วงประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม และฝักจะแก่ในช่วงประมาณเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์เปลือกเมล็ดหนามีสีดำหรือสีคล้ำ ส่วนเนื้อในเมล็ดมีสีเขียวเข้มและมีกลิ่นฉุน
เพาะเมล็ด เมล็ดมีเยื่อหุ้มและงอกได้หลายสัปดาห์หลังจากหว่านเมล็ด เตรียมเมล็ดโดยปกติจะเทน้ำร้อนที่เกือบเดือดลงบนเมล็ดเล็กน้อย ระวังอย่าให้สุก แล้วแช่ในน้ำอุ่น 12-24 ชั่วโมง เมล็ดจะบวมและมีความชื้น ถ้ายังไม่ได้ให้ทำรอยฉีกบนเยื่อหุ้มเมล็ดอย่างระวัง แล้วแช่ต่ออีก 12 ชั่วโมง
ลูกเหรียงหรือหน่อเหรียง สามารถนำมารับประทานสดแกล้มกับน้ำพริกหรือแกงใต้ หรือนำไปปรุงอาหารได้ ลำต้นตรง เนื้อไม้สีขาวนวล ไม่มีแก่น เสี้ยนตรงสม่ำเสมอ มีความอ่อนและเปราะ สามารถเลื่อยผ่าได้ง่าย นำมาใช้ทำเป็นส่วนประกอบที่มีน้ำหนักเบาหรือเป็นโครงร่างของการผลิตต่าง ๆ เช่น การทำรองเท้าไม้ หีบใส่ของ เครื่องใช้สอยอื่น ๆ เช่น เครื่องใช้ในครัวเรือน เหรียงเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง จึงมีคุณสมบัติในการช่วยบำรุงดินได้ดี ส่วนของใบเหรียงนั้นมีขนาดเล็กจึงเหมาะแก่การนำมาใช้ปลูกควบคู่ไปกับพืชชนิดอื่น ๆ เช่น การปลูกกาแฟ ก็จะช่วยทำให้ผลผลิตของกาแฟสูงขึ้นติดต่อกัน เนื่องจากต้นเหรียงสามารถเจริญเติบโตได้ดีแม้ในสภาพที่ไม่เหมาะสม จึงนิยมนำต้นเหรียงมาใช้เป็นต้นตอเพื่อใช้ในการติดตาพันธุ์สะตอ
เมล็ดเหรียงมีรสมัน ช่วยบำรุงร่างกาย ทำให้เจริญอาหารได้ดี มีวิตามินเอ วิตามินซี และแคลเซียม ช่วยบำรุงเหงือกและฟันให้แข็งแรง เปลือกและเมล็ดมีคุณค่าทางสมุนไพรที่ดีกว่าสะตอ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เมล็ดเพื่อเป็นยาแก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง ช่วยขับลมในลำไส้ เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานแผล ช่วยลดน้ำเหลือง