คำอธิบายของพรรณไม้

 พรรณไม้ : หมากเหลือง

   ชื่อสามัญ

Yellow palm

   ชื่อวิทยาศาสตร์

Dypsis lutescens (H.Wendl.) H.Beentje & J.Dransf.

   ชื่อวงศ์

ARECACEAE (PALMAE)

   ชื่ออื่น ๆ

ปาล์มสามทาง

   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น หมากเหลือง มีลำต้นเพรา ทรงกลม และตั้งตรง ลำต้นแตกหน่อเป็นกอใหม่รอบต้นแม่ เมื่อโตเต็มที่จะสูงได้ถึง 8 เมตร ขนาดลำต้นประมาณ 4-8 เซนติเมตร ลำต้นมีลักษณะเป็นข้อหรือเป็นวงชัดเจน ผิวลำต้นเรียบ โคนลำต้นมีสีเหลืองส้มหรือเขียวอมเหลือง ลำต้นส่วนปลายมีนวลสีขาวปกคลุม
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก กาบใบหุ้มลำต้น มีสีเหลืองอมส้ม เรียงเยื้องกันตามความสูง ใบมีทางใบยาว 1.5-2 เมตร ทางใบมีสีเขียวอ่อนหรือสีเขียวอมเหลือง บนทางใบมีใบย่อยเรียงเยื้องสลับกันเป็นแถว ใบย่อยมีลักษณะเรียวยาว โคนใบสอบรูปลิ่ม ปลายใบเรียวแหลม คล้ายใบมะพร้าว กว้างประมาณ 1-2 เซนติเมตร ยาวประมาณ 40-60 เซนติเมตร แผ่นใบ และขอบใบเรียบ มีสีเขียวอมเหลือง
ดอก หมากเหลืองออกดอกเป็นช่อเหมือนกับช่อดอกของปาล์มทั่วไป ก้านช่อดอกยาวประมาณ 60-100 เซนติเมตร ปลายช่อแตกแขนงเป็นช่อย่อย บนช่อแขนงประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยแต่ละดอกมีสีขาว ทั้งนี้ ดอกหมากเหลืองเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ มีการแยกเพศอยู่คนละต้น
ผล ผลหมากเหลือง ติดผลเป็นช่อ แต่ละผลมีรูปกลมรี ขนาดประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ผลดิบมีสีเขียว เมื่อสุกเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอมส้ม และสุกจัดเปลี่ยนเป็นสีม่วงอมดำ แต่ละผลมีเมล็ด 1 เมล็ด

   ถิ่นกำเนิด

หมู่เกาะมาดากัสการ์

   การขยายพันธ์

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด แยกหน่อ

   การนำไปใช้ประโยชน์

1. หมากเหลืองนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ เนื่องจากมีทรงพุ่มสวยงาม 2. เกษตรกรบางรายยังปลูกเพื่อตัดก้านใบส่งขาย สร้างรายได้งามเช่นกัน ก้านใบที่จำหน่ายถูกใช้สำหรับจัดตกแต่งในพิธีต่างๆ อาทิ งานมงคล งานเทศกาลชุมชน และงานสำคัญของทางราชการ 3. ก้านหมากเหลืองใช้ถูหรือจิ้มบริเวณฝ่าเท้าเพื่อตรวจหาอาการชาจากภาวะโรคเบาหวาน ลดความเสี่ยงการเกิดแผลจากโรคเบาหวาน มีวิธีการใช้ คือ นำก้านหมากเหลืองมาผ่าเปลือกนอกออก ให้เหลือเฉพาะแก่นอ่อนด้านใน จากนั้น เหลาให้ส่วนปลายเรียวเล็ก และปลายสุดเหลาให้มน ก่อนใช้จิ้มบนฝ่าเท้าตรวจหาอาการชา

   สรรพคุณ

1. ผลอ่อน มีรสฝาด ช่วยเจริญอาหาร ขับเสมหะ แก้อาการเมา วิงเวียนศีรษะ แก้คลื่นไส้อาเจียน แก้ไอ ถ่ายพยาธิ 2. ผลดิบ มีรสฝาดจัด แก้ท้องเสีย แก้ปวดแน่นท้อง ถ่ายพยาธิ ขับปัสสาวะ 3. เนื้อผล มีรสจืดหวาน ช่วยขับลม ขับปัสสาวะ แก้ท้องอืดแน่น แก้โรคบิด แก้ท้องเสีย 4. ผลอ่อนและเนื้อผลแก่ นำมาบดใช้ทาภายนอก ช่วยสมานแผลให้หายเร็ว รักษาโรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน