คำอธิบายของพรรณไม้
พรรณไม้ : มะม่วงเขียวเสวย
Mango (Khiew Sawoey)
Mangifera indica L.c.v.
ANACARDIACEAE
เขียวสะอาด เขียวไข่กา
ลำต้น เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดกลาง มีอายุประมาณ 10-25 ปี ลำต้นสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นแตกหลักกิ่ง และกิ่งแขนงน้อย จนแลดูเป็นทรงพุ่มโปร่ง เปลือกลำต้นแตกเป็นสะเก็ดขนาดเล็ก สีดำอมเทา
ใบ ออกเป็นใบเดี่ยวๆ เรียงสลับกันที่ปลายกิ่ง ใบค่อนข้างรียาว สีเขียวเข้ม และเป็นมัน ขนาดใบกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร โคนใบสอบมน ปลายใบแหลม แผ่นใบ และขอบใบเรียบ เส้นกลางใบมีสีขาวชัดเจน
ดอก ออกดอกเป็นช่อแขนง ซึ่งแต่ละแขนงประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยในช่อเดียวกันจะมีดอก 2 ชนิด คือ ดอกเพศผู้ ซึ่งมีจำนวนมาก (91.80%) และดอกกะเทย (8.20%) ที่สามารถพัฒนาเป็นผลได้ ทำให้มะม่วงพันธุ์นี้ติดผลน้อย ทั้งนี้ มะม่วงเขียวเสวย เป็นพันธุ์ที่ออกดอกช้า ดอกมะม่วงเขียวเสวยหลังการผสมเกสรแล้ว ทั้งกลีบเลี้ยง กลีบดอกและเกสรจะร่วงหล่นไปหมด คงเหลือรังไข่ที่พัฒนาเป็นผลรูปไข่ขนาดเล็ก และจานดอกที่เหี่ยวแห้งติดด้านล่างผล
ผล มีลักษณะรียาวและแบนเล็กน้อย บริเวณขั้วผลมีขนาดใหญ่ และค่อยเล็กลงไปด้านท้ายด้านหลังผลมีลักษณะนูนออก และด้านหน้าผลคอดเล็กลง ขนาดผลกว้างประมาณ 5-7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร มีน้ำหนักต่อผลประมาณ 300-335 กรัม ผลอ่อนมีเปลือกสีเขียวเข้ม ส่วนเนื้อผลมีสีขาว และมีรสเปรี้ยว เมื่อแก่ เปลือกมีสีเขียวอมเทาหรือมีนวล ส่วนเนื้อมีสีขาวขุ่น รสหวานมัน เมื่อสุกเปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อน เนื้อด้านในมีสีเหลือง เนื้อละเอียด ค่อนข้างแน่น ไม่เละง่าย ส่วนเมล็ดด้านในมีลักษณะเรียวยาว ค่อนข้างแบนตามลักษณะของผล เปลือกหุ้มเมล็ดหนาแข็ง และมีร่องเป็นริ้วตามแนวตั้ง
ประเทศไทย เป็นมะม่วงกลาย
พันธุ์ที่ได้จากการเพาะเมล็ด เป็นพันธุ์ใหม่ที่เพาะได้โดยบังเอิญเมื่อประมาณปี 2475 ของชาวสวนแห่งหนึ่งในอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง การติดตา การเสียบยอด และการทาบกิ่ง
1. มะม่วงเขียวเสวย นิยมรับประทานผลดิบแก่เป็นหลัก เพราะเนื้อผลหนา กรอบ และมีรสหวานมัน นอกจากนั้น ยังนิยมรับประทานผลสุกเช่นกัน ด้วยเนื้อผลสุกมีรสหวาน เนื้อแน่นเหนียว ไม่เละง่าย
2. มะม่วงเขียวเสวยสุก มีเนื้อสีเหลืองทองนิยมใช้ทำข้าวเหนียวมะม่วง
3. มะม่วงเขียวเสวยสุก แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ มะม่วงกวน มะม่วงแผ่น เป็นต้น
4. ก้านยอดอ่อนหรือยอดอ่อนมีรสเปรี้ยวอมฝาด ใช้รับประทานเป็นผักคู่กับอาหารอื่นๆ
5. เปลือกลำต้นใช้ต้มย้อมผ้า ผ้าที่ย้อมได้สีน้ำตาล
6. เนื้อไม้แปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้ รวมถึงใช้เป็นท่อนไม้สำหรับการเพาะเห็ด
1. ผลดิบและผลสุก มีฤทธิ์ ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด ป้องกันโรคเบาหวาน ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันโรคมะเร็ง กระตุ้นการถ่าย
2. ใบมะม่วง กระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยการทดลองใช้สารสกัดหยาบจากใบมะม่วงเขียวเสวย โดยการผสมในอาหารให้แก่กุ้งกุลาดำพบว่า สารสกัดหยาบจากใบมะม่วงเขียวเสวยสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของแก่กุ้งได้ ใบมะม่วงเขียวเสวยนำมาตากแห้ง และบดเป็นผงสำหรับใช้ต้มดื่มหรือรับประทาน ช่วยแก้โรคท้องร่วง
3. ผงใบมะม่วงช่วยแก้โรคเบาหวาน ช่วยบรรเทาอาการไอ แก้โรคหอบหืด แก้โรคเกี่ยวกับทรวงอก
4. ลำต้นและเปลือก ช่วยแก้ไข้ ตัวร้อน รักษากามโรคต่างๆ รักษาแผลในจมูก แก้อาการท้องเดิน
5. ราก ช่วยรักษาฝี ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ