คำอธิบายของพรรณไม้

 พรรณไม้ : ศรีตรัง

   ชื่อสามัญ

Green ebony/ Jacaranda

   ชื่อวิทยาศาสตร์

Jacaranda filicifolia (Anderson) D.Don.

   ชื่อวงศ์

BIGNONIACEAE

   ชื่ออื่น ๆ

แคฝอย (กรุงเทพฯ)

   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ต้นขนาดเล็ก สูง 4-10 เมตร ผลัดใบ เรือนยอดโปร่ง เปลือกสีน้ำตาลอมขาว แตกล่อนเป็นแผ่นบางตามยาวคล้าย กระดาษ
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก 2 ชั้น เรียงตรงกันข้าม ใบย่อย 12-21 คู่ เรียงตรงข้าม ใบรูปขอบขนานแกมรูปเหลี่ยมข้าวหลามตัด มีขนาดเล็ก กว้าง 0.5-0.7 เซนติเมตร ยาว 1-1.5 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบเบี้ยว เส้นแขนงใบข้างละ 4-5 เส้น ก้านใบหลักยาว 7-11 เซนติเมตร ก้านใบประกอบยาว 4-8 มิลลิเมตร ไม่มีก้านใบย่อย
ดอก สีม่วงอ่อน มีกลิ่นหอมอ่อน ออกเป็นช่อแบบกระจุกแยกแขนงตามกิ่งและซอกใบ ใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 5-9 เซนติเมตร กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดสีม่วงเข้มปลายแยก 5 แฉก ดอกบานเต็มที่กว้าง 1.5-2.5 เซนติเมตร
ผล ผลแห้งแตกเป็นฝักสีน้ำตาลอ่อน กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 2.2-2.5 เซนติเมตร เมล็ดมีปีกจำนวนมาก จะออกดอกประมาณเดือน มกราคม-มีนาคม เป็นผลประมาณเดือน เมษายน-พฤษภาคม

   ถิ่นกำเนิด

มีถิ่นกำเนิดในแถบอเมริกาใต้

   การขยายพันธ์

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด เมล็ดงอกใช้เวลาประมาณ 10 วัน

   การนำไปใช้ประโยชน์

1. นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ ปลูกตามสวนหย่อม 2. ใช้ทำเป็นโครงของเฟอร์นิเจอร์ 3. ใช้ทำพื้นปาร์เกต์ กีตาร์ ทำเปียโน

   สรรพคุณ

1. เปลือกไม้ ใช้ทาล้างแผลเปื่อย แผลพุพอง 2. ใบ ใช้ผสมกับเปลือกไม้ รักษาโรคซิฟิลิสและโกโนเรีย ใช้ในการรักษาบาดแผล 3. เนื้อไม้ มีรสเฝื่อน ฝาด แก้ท้องบวม ขับพยาธิ ตกเลือด 4. ดอก ช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อโรค


แผนที่แสดงพิกัดของศรีตรังภายในมหาวิทยาลัยจำนวน 13 ต้น