คำอธิบายของพรรณไม้
พรรณไม้ : เพกา
Broken Bones Tree
Oroxylum indicum (L.) Kurz
BIGNONIACEAE
มะลิดไม้ มะลิ้นไม้ ลิดไม้ (เหนือ) ลิ้นฟ้า (เลย) หมากลิ้นก้าง หมากลิ้นซ้าง (ฉาน-เหนือ) กาโด้โด้ง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี) ดอก๊ะ ด๊อกก๊ะ ดุแก (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) เบโก (มาเล-นราธิวาส)
ลำต้น ไม้ต้น เนื้ออ่อน ขนาดเล็ก สูง 5 – 12 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอด ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกสีน้ำตาล แตกเป็นร่องตื้น เปลือกในสีเหลือง แตกกิ่งก้านน้อย
ใบ ใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น ปลายใบคี่ ใบมีขนาดใหญ่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 4 – 5 เซนติเมตร ยาว 6 – 12 เซนติเมตร เรียงตรงข้าม โคนใบสอบเรียว หรือมน ขอบใบเรียบ หรือหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบแหลม
ดอก ช่อกระจะ ออกที่ปลายยอด ก้านชูช่อดอกยาว ดอกย่อยมีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 6 – 9 เซนติเมตร ดอกสมบูรณ์เพศ และมีสมมาตรด้านข้าง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ติดคงทนจนเป็นผล กลีบดอกสีแดงเลือดหมู 5 กลีบ เชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายกลีบแยกเป็นรูปปากเปิด เนื้อกลีบพับย่น เกสรเพศผู้มี 5 อัน สั้น 2 อัน ยาว 2 อัน เป็นหมัน 1 อัน ติดบนหลอดกลีบดอกด้านใน เกสรเพศเมียมี 1 อัน รังไข่เหนือวงกลีบ ออกดอกเดือนมีนาคม – เดือนกรกฎาคม
ผล ผลแก่แล้วแตกสองแนว รูปเรียว ยาว ลักษณะคล้ายดาบขนาดใหญ่ กว้าง 8 – 12 เซนติเมตร ยาว 40 – 60 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียวเข้ม เมื่อแก่มีสีน้ำตาล เมล็ดสีขาว แบน มีปีกบาง ติดผลประมาณเดือนสิงหาคม
อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด
ใบและฝักอ่อน สามารถนำมารับประทานเป็นผักได้
1. ราก มีรสฝาดเย็น ขมเล็กน้อย ใช้บำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร เจริญอาหาร แก้ท้องร่วง แก้บิด แก้ไข้สันนิบาต รากฝนกับน้ำปูนใส ทาแก้อาการอักเสบ ฟกบวม
2. ฝักอ่อน รับประทานเป็นผัก ช่วยในการขับลม บำรุงธาตุ
3. เมล็ด ใช้เป็นยาถ่าย เมล็ดแก่ใช้เป็นยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ