คำอธิบายของพรรณไม้

 พรรณไม้ : หางนกยูงฝรั่ง

   ชื่อสามัญ

Flamboyant tree, Flame of the forest, Peacock flower

   ชื่อวิทยาศาสตร์

Delonix regia (Bojer ex Hook.) Raf.

   ชื่อวงศ์

FABACEAE

   ชื่ออื่น ๆ

นกยูงฝรั่ง, อินทรี (ภาคกลาง)/ ส้มพอหลวง (ภาคเหนือ)/ หงอนยูง (ภาคใต้)

   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ต้นผลัดใบ สูง 10-15 เมตร เปลือกเรียบ สีน้ำตาลอมเทาหรือสีเทา เรือนยอดแผ่กว้าง
ใบ ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น เรียงเวียน ใบย่อยชั้นที่หนึ่งเรียงตรงข้าม มี 9-24 คู่ ใบย่อยชั้นที่สองเรียงตรงข้าม มี 14-30 คู่ ใบย่อยขนาดเล็ก รูปขอบขนาน กว้าง 3-4 มิลลิเมตร ปลายมน โคนเบี้ยว ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ
ดอก ออกดอกเป็นช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อดอกยาว 10-15 เซนติเมตร ดอกบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-8 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ ด้านนอกสีเขียว ด้านในสีคล้ายกลีบดอก รูปขอบขนาน หนา กลีบดอก 5 กลีบ สีแดง สีแดงอมส้ม หรือสีส้มแซมสีเหลือง ขนาดไม่เท่ากัน รูปค่อนข้างกลม โคนคอดคล้ายก้าน เกสรเพศผู้ 10 เกสร รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ
ผล ผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบน รูปขอบขนาน กว้าง 4-5 เซนติเมตร ยาว 30-60 เซนติเมตร ตรงหรือโค้ง ผนังผลแข็ง สีเขียว เมื่อแห้งสีน้ำตาลอมดำ เมล็ด มี 20-40 เมล็ด สีน้ำตาล ขอบเมล็ดสีอ่อนกว่า แบน รูปขอบขนานหรือรูปรี เรียงตามขวาง

   ถิ่นกำเนิด

มาดากัสการ์

   การขยายพันธ์

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

   การนำไปใช้ประโยชน์

1. นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป 2. เมล็ด เมล็ดอ่อนสามารถรับประทานสดได้ 3. ราก นำมาต้มหรือทอดรับประทานกับอาหาร

   สรรพคุณ

1. เมล็ด เมล็ดอ่อนสามารถรับประทานสดได้ 2. ราก เป็นยาขับโลหิตในสตรี แก้อาการบวมต่าง ๆ 3. ลำต้น นำมาฝนทาแก้พิษ ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อยได้