คำอธิบายของพรรณไม้

 พรรณไม้ : ขี้เหล็ก

   ชื่อสามัญ

Siamese senna

   ชื่อวิทยาศาสตร์

Cassia siamea Lamk.

   ชื่อวงศ์

FABACEAE

   ชื่ออื่น ๆ

ขี้เหล็กแก่น (ราชบุรี), ขี้เหล็กบ้าน (ลำปาง,สุราษฎร์ธานี), ผักจี้ลี้ แมะขี้แหละพะโด (แม่ฮ่องสอน), ยะหา (ปัตตานี), ขี้เหล็กใหญ่ (ภาคกลาง), ขี้เหล็กหลวง (ภาคเหนือ), ขี้เหล็กจิหรี่ (ภาคใต้)

   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น เป็นไม้ยืนต้นสูงประมาณ 8-15 เมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกมีสีเทาถึงน้ำตาลดำแตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาว แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มแคบ
ใบ เป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับกัน ใบเป็นสีเขียวเข้ม มีใบย่อยรูปรี 5-12 คู่ กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ที่ปลายสุดเป็นใบเดี่ยว ปลายใบเว้าตื้น โคนใบมน ขอบและแผ่นใบเรียบ
ดอก ออกดอกเป็นช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง มีดอกสีเหลือง กลีบเลี้ยงกลมมี 3-4 กลีบ ปลายมน กลีบดอกมี 5 กลีบ ปลายมน โคนเรียว หลุดร่วงง่าย ก้านดอกจะยาว 1-1.5 เซนติเมตร และมีเกสรตัวผู้หลายเกสร และในบรรดาผักผลไม้ไทยทั้งหลาย
ผล มีลักษณะเป็นฝักแบนกว้าง 1.4 เซนติเมตร ยาว 15-23 เซนติเมตร มีความหนา มีสีน้ำตาล มีเมล็ดหลายเมล็ด

   ถิ่นกำเนิด

เอเซียตะวันออกเฉียงใต้

   การขยายพันธ์

ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

   การนำไปใช้ประโยชน์

1. ยอดอ่อน ดอก ใบ และฝักอ่อน นำมาทำแกง ขั้นเตรียมปรุงต้องต้มล้างน้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อลดความเป็นพิษต้น 2. ปลูกให้ร่มเงาตามถนนและสวนโกโก้ กาแฟ และชา มักปลูกเพื่อป้องกันลม ลดการไหลบ่าและพังทลายของดินปลูกเป็นแนวรั้ว 3. ใบนำมาทำเป็นปุ๋ยพืชสด และสามารถให้ใบสด 500 กิโลกรัม/ปี และก่อให้เกิดราไมคอไรซา 4. ทุกส่วนของต้นสามารถใช้สำหรับฟอกหนัง ความเข้มข้นของแทนนิน แตกต่างกันเล็กน้อย ใบ 17% เปลือก และฝัก 7% 5. แก่นไม้เป็นสีดำน้ำตาล มีลายจางชัดเจน เสี้ยนตรง พื้นผิวหยาบเล็กน้อย เนื้อไม้มีน้ำหนักปานกลาง เป็นไม้เนื้อแข็ง ทนต่อปลวกแข็งแรงและทนทาน นิยมทำประตูหน้าต่าง ตู้ ของใช้ตกแต่งบ้าน ไม้ทำเสา สะพานคาน 6. ไม้ทำเป็นไม้เชื้อเพลิง ค่าพลังงานของไม้ 22400 kJ/kg ไม้ฟืนนี้เคยเป็นที่นิยมสำหรับเครื่องยนต์รถจักร

   สรรพคุณ

1. ใบ รสขม ถ่ายพรรดึก ถ่ายกระษัย ถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ ขับปัสสาวะ แก้ระดูขาว แก้นิ่ว ตำพอกแก้เหน็บชา แก้บวม บำรุงโลหิต ดับพิษโลหิต ดองสุราดื่มก่อนนอน แก้นอนไม่หลับ 2. ดอก รสขม แก้โรคประสาท แก้นอนไม่หลับ แก้หืด แก้รังแค เป็นยาระบาย 3. ฝัก รสขม แก้ไข้พิษเพื่อปิตตะ ไข้เพื่อเสมหะ 4. เปลือกฝัก รสขมเฝื่อน แก้เส้นเอ็นตึง แก้กระษัย 5. เปลือกต้น รสขม แก้กระษัย แก้ริดสีดวงทวาร 6. กระพี้ รสขมเฝื่อน ถอนพิษไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้กระษัยเส้นเอ็น 7. แก่น รสขมเฝื่อน ถ่ายพิษ ถ่ายเส้น ถ่ายม้าม แก้กระษัย แก้เหน็บชา แก้ไข้เพื่อกระษัย ขับโลหิต แก้เตโชธาตุพิการ ทำให้ตัวเย็น แก้แสบตา แก้กามโรค หนองใน 8. ราก รสขม แก้ไข้ แก้ไข้กลับ ไข้ซ้ำ รักษาแผลกามโรค