คำอธิบายของพรรณไม้

 พรรณไม้ : สารภีทะเล

   ชื่อสามัญ

Alexandrian Laurel

   ชื่อวิทยาศาสตร์

Calophyllum inophyllum L.

   ชื่อวงศ์

GUTTIFERAE

   ชื่ออื่น ๆ

กระทึง กากะทิง(กลาง) ทิง(กระบี่) เนาวกาน(น่าน) สารภีทะเล(ประจวบคีรีขันธ์) สารภีแนน(เหนือ) ทิง (กระบี่) กาทึง ทึง(ใต้) กระทิง

   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 8-20 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ไม่เป็นระเบียบ ลำต้นค่อนข้างสั้น และมักบิดแตกเป็นกิ่งใหญ่ๆ จำนวนมากทั้งในแนวตั้งและแนวนอน หรือห้อยลง เปลือกเรียบสีน้ำตาลปนเทา หรือค่อนข้างดำ ลำต้นแก่จะแตกเป็นร่อง ภายในมีน้ำยางมากสีเหลืองใส แก่นไม้สีน้ำตาลอมแดง ตายอดเป็นรูปกรวยคว่ำ มีขนสีน้ำตาลปนแดงประปราย
ใบ ใบเดี่ยว ออกตรงข้าม รูปรีถึงไข่กลับ กว้าง 4.5-8 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร ปลายใบมนกว้าง และมักหยักเว้าตรงกลางเล็กน้อย โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ เนื้อใบหนา เกลี้ยง หลังใบเรียบสีเขียวเข้มเป็นมัน ท้องใบเรียบสีอ่อนกว่า เส้นใบมองเห็นไม่ชัดเจน มีเส้นใบถี่มาก และขนานกัน ก้านใบยาว 1-2 เซนติเมตร
ดอก ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อตามง่ามใบ และปลายกิ่ง ดอกบานเต็มที่กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงมี 4 กลีบ ยาว 2.7-10 มิลลิเมตร ชั้นนอกรูปร่างกลม ค่อนข้างหนา เกลี้ยง ชั้นในรูปไข่กลับ คล้ายกลีบดอก กลีบดอกมี 4 กลีบ กว้าง 7-8 มิลลิเมตร ยาว 9-12 มิลลิเมตร รูปไข่กลับ หรือรูปช้อน ขอบงอ เกสรเพศผู้สีเหลืองมีจำนวนมาก รังไข่ค่อนข้างกลม สีชมพู ก้านเกสรเพศเมียยาว
ผล ผลค่อนข้างกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-3 เซนติเมตร ปลายเป็นติ่งแหลม ผิวเรียบ สีเขียว เปลือกค่อนข้างหนา ผลสดสีเขียว เมื่อสุกมีสีแดงอมส้ม เมล็ดเดี่ยว มักขึ้นตามป่าใกล้ชายทะเล ป่าดงดิบ พบมากทางภาคใต้

   ถิ่นกำเนิด

ประเทศแถบอินโดจีน เช่น ไทย พม่า ศรีลังกา ลาว เขมร มาเลเชีย เวียตนาม อินเดีย

   การขยายพันธ์

เพาะเมล็ด ตอนกิ่ง

   การนำไปใช้ประโยชน์

1. ปลูกเป็นไม้กระถาง หรือให้ร่มเงา 2. เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้าง ทำเครื่องเรือน และกระดูกงูเรือ 3. น้ำมันใช้ในอุตสาหกรรมสบู่ ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และใช้ผสมทำเป็นน้ำมันไบโอดีเซลจากเมล็ด

   สรรพคุณ

1. ดอก รสหอมเย็น เข้ายาบำรุงหัวใจ ปรุงยาหอม 2. ราก เป็นยาใช้ล้างแผล 3. เปลือกต้น ทำยาต้มเป็นยาขับปัสสาวะในโรคหนองใน ทาภายนอกแก้บวม 4. ต้นและเปลือกต้น ให้ยางใช้สำหรับทาแผล เป็นยาฝาดสมานพอกทรวงอกแก้วัณโรคปอด กินจะทำให้อาเจียน เป็นยาระบาย ใช้แต่งกลิ่น ขับปัสสาวะ ใช้ภายนอกสำหรับล้างแผลอักเสบเรื้อรัง 5. ใบ รสเมาเย็น แก้ตาแดง ตาฝ้า ตามัว ใบใช้เบื่อปลา ถ้านำมาแช่น้ำทิ้งไว้ค้างคืนจะได้น้ำที่มีสีน้ำเงิน น้ำคั้นจากใบเป็นยาฝาดสมานภายนอกใช้กับโรคริดสีดวงทวาร 6. เมล็ด ให้น้ำมันและยางอยู่รวมกัน แยกน้ำมันออกมาใช้ทาถูนวดแก้ปวดข้อ เคล็ดขัดยอก บวม สมานแผล แก้ผื่นคัน แก้โรคผิวหนัง แก้เหา แก้หิด กลาก 7. น้ำมันจากเมล็ดทำให้บริสุทธิ์ กินแก้โรคหนองใน ทั้งต้น รสเมา ใช้เบื่อปลา