คำอธิบายของพรรณไม้

 พรรณไม้ : อินทนิลน้ำ

   ชื่อสามัญ

Pride of India

   ชื่อวิทยาศาสตร์

Lagerstroemia speciosa Pers.

   ชื่อวงศ์

LYTHRACEAE

   ชื่ออื่น ๆ

ตะแบกดำ (กรุงเทพ), ฉ่วงมู ฉ่องพนา (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), บางอบะซา (นราธิวาส, มลายู-ยะลา), บาเย บาเอ (มลายู-ปัตตานี), อินทนิล (ภาคกลาง, ภาคใต้)

   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ต้นผลัดใบ สูง 10-25 เมตร เรือนยอดแผ่กว้าง คลุมต่ำ เปลือกลำต้นค่อนข้างเรียบและมีรอยด่าง
ใบ ใบออกเรียงตรงข้ามหรือเกือบตรงข้าม ใบเดี่ยวรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง 6-10 เซนติเมตร ยาว 11-26 เซนติเมตร เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยง เป็นมันทั้งสองด้าน ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นบ้างเล็กน้อย ปลายใบแหลม โคนใบกลมมนหรือเบี้ยว
ดอก ออกดอกในฤดูร้อน เป็นช่อแบบช่อแยกแขนงที่ปลายกิ่ง หรือตามง่ามใบใกล้ ๆ ปลายกิ่ง ดอกรวมกันเป็นช่อโต ยาวถึง 30 เซนติเมตร จะบานจากโคนช่อไล่ขึ้นไปถึงปลายช่อ กลีบดอกสีม่วงสด ม่วงปนชมพู หรือชมพู กลีบดอก 6 กลีบ ดอกเมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.0-7.5 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงรูปถ้วย มีสันนูนตามยาวเห็นชัดเจน และมีขนสั้นประปราย กลีบดอกบาง ปลายกลีบพลิ้ว ผิวกลีบเป็นคลื่นเล็กน้อย เกสรผู้จำนวนมาก
ผล ผลเกือบกลม ผิวเกลี้ยง แข็ง ยาว 2-3 เซนติเมตร ผลแห้งแล้วแตกตามยาว 5 พู เมล็ดลักษณะแบนจำนวนมาก มีปีกซีกหนึ่งทำให้สามารถแพร่กระจายไปขยายพันธุ์ได้ในรัศมีกว้างไกล

   ถิ่นกำเนิด

มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย

   การขยายพันธ์

เพาะเมล็ด และกิ่งตอน

   การนำไปใช้ประโยชน์

1. นิยมปลูกเป็นไม้ริมทางและไม้ประดับ เนื่องจากมีดอกและใบที่สวยงาม ให้ร่มเงาและเจริญเติบโตเร็ว 2. ใบอ่อนนำมาตากแดดใช้ชงเป็นชาไว้ดื่ม แปรรูปเป็นสมุนไพรอินทนิลน้ำแบบสำเร็จรูปในรูปแบบแคปซูลและแบบชงเป็นชา 3. เป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง เพราะมีเนื้อไม้ที่แข็งแรง เหนียว และทนทาน ตกแต่งขัดเงาได้ง่าย โดยเนื้อไม้นิยมนำมาใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ ใช้ทำกระดาษ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องดนตรี เช่น เปียโน เป็นต้น

   สรรพคุณ

1. ใบมีรสขม ฝาดเย็น ช่วยรักษาโรคความดันโลหิตสูง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด 2. เมล็ด ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ 3. เปลือก ช่วยแก้ไข้ ช่วยแก้อาการท้องเสีย 4. รากมีรสขม ช่วยรักษาแผลในช่องปากและคอ ใช้เป็นยาสมานท้อง 5. แก่น มีรสขม ใช้ต้มดื่มรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ แก้ปัสสาวะพิการได้