คำอธิบายของพรรณไม้

 พรรณไม้ : โพทะเล

   ชื่อสามัญ

Portia Tree

   ชื่อวิทยาศาสตร์

Thespesia populnea (L.) Sol. ex Correa

   ชื่อวงศ์

MALVACEAE

   ชื่ออื่น ๆ

ปอกะหมัดไพร (ราชบุรี), ปอหมัดไซ (เพชรบุรี), บากู (ปัตตานี, มลายู-นราธิวาส), โพทะเล โพธิ์ทะเล (ภาคกลาง)

   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก มีความสูงประมาณ 8-12 เมตร ลำต้นโค้งและแตกกิ่งในระดับต่ำ ลักษณะของต้นเป็นทรงเรือนยอดแผ่กว้างและค่อนข้างหนาทึบ เปลือกเป็นสีเทาอ่อนหรือสีน้ำตาล มีลักษณะเรียบหรือขรุขระ มีรอยแตกตามยาวเป็นร่อง ๆ
ใบ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของใบคล้ายรูปหัวใจ ปลายใบกว้างแหลมยาวถึงเรียวแหลม ส่วนฐานใบเว้าลึก ขอบใบเรียบ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 5-10 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร และมีเส้นใบออกจากโคนของใบประมาณ 5-7 เส้น ผิวใบด้านบนมีลักษณะเกลี้ยงและเป็นมัน ส่วนท้องใบเป็นสีเทาแกมสีน้ำตาลและมีเกล็ด ส่วนก้านใบมีความยาวประมาณ 16 เซนติเมตร และยังมีหูใบที่มีลักษณะเป็นรูปใบหอก ยาวประมาณ 3-1 เซนติเมตร และหลุดร่วงได้ง่าย
ดอก ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ริ้วประดับมี 3 แฉก ติดอยู่บริเวณโคนกลีบเลี้ยง ร่วงง่าย กลีบเลี้ยงรูปถ้วย หนาแข็ง ปลายมีจักเล็กๆ 5 จัก กลีบดอกสีเหลือง มีบริเวณตรงกลางด้านในสีม่วงเข้มแล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงอมส้มเมื่อใกล้โรย แฉกกลีบดอกรูปไข่กลับเบี้ยว ปลายกลมมน ขนาด 6-7 x 4-6 เซนติเมตรเกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียอยู่ในหลอดเกสรอันเดียวกัน ลักษณะเป็นพู่ยาว มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบดอก ก้านดอกมีขนอ่อน ดอกมีกลิ่นหอม
ผล ผลเดี่ยว เปลือกแข็ง รูปกึ่งกลม มีสันตามยาว 5 สัน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-4.5 เซนติเมตร ผิวเกือบเกลี้ยง มักไม่แตกภายในมีเมือกสีเหลือง เมล็ดเล็กยาวคล้ายเส้นใยไหม

   ถิ่นกำเนิด


   การขยายพันธ์

เพาะเมล็ด

   การนำไปใช้ประโยชน์

1. ดอก ผล และใบอ่อนสามารถนำมารับประทานได้ 2. ปลูกเป็นไม้ประดับและให้ร่มเงาได้ เป็นไม้โตเร็วและมีดอกขนาดใหญ่สวยงาม 3. เนื้อไม้มีสีแดงเข้ม เหนียว แข็งแรง ทนปลวก ไสกบตกแต่งง่าย และขัดชักเงาได้เป็นอย่างดี ใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี เครื่องเรือน เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ และสามารถใช้ทำเป็นถ้วยชามใส่อาหารเนื่องจากไม่มีกลิ่น 4. เปลือกต้นสามารถนำมาใช้ตอกหมันเรือ ใช้ทำเชือกและสายเบ็ดได้ 5. บางประเทศนิยมปลูกไว้ตามวัดเพราะถือเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์

   สรรพคุณ

1. รากใช้กินเป็นยาบำรุง รักษาอาการไข้ ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย 2. ใช้ดอกสดประมาณ 2-3 ดอกนำมาต้มกับน้ำนมครึ่งถ้วยตวง แล้วนำมาหยอดหู ช่วยแก้อาการเจ็บในหูได้ 3. เปลือกใช้เป็นยาทำให้อาเจียน 4. เมือกที่ได้จากการนำส่วนของเปลือกสดมาแช่น้ำใช้สำหรับรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร 5. ใบใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ 6. ใช้ใบแห้งประมาณ 2-3 ใบ นำมาบดเป็นผงละเอียดแล้วนำมาพอกและทาบริเวณที่เป็นแผล ทั้งแผลเรื้อรัง และแผลสด ช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น 7. ผลและใบใช้ตำพอกแก้หิด