คำอธิบายของพรรณไม้

 พรรณไม้ : ปอทะเล

   ชื่อสามัญ

Coast cotton tree

   ชื่อวิทยาศาสตร์

Hibiscus tilliaceus L.

   ชื่อวงศ์

MALVACEAE

   ชื่ออื่น ๆ

ขมิ้นนางมัทรี ผีหยิก (เลย), บา (จันทบุรี), โพธิ์ทะเล (นนทบุรี), โพทะเล (กรุงเทพฯ), ปอฝ้าย (ภาคกลาง), ปอนา ปอนาน ปอมุก ปอฝ้าย (ภาคใต้), ปอโฮ่งบารู (มลายู-นราธิวาส) เป็นต้น

   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น เป็นไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็ก สูงของประมาณ 3-5 เมตร เรือนยอดแผ่พุ่มกว้าง แตกกิ่งต่ำ ลำต้นมักคดงอ แตกกิ่งก้านมาก เปลือกลำต้นสีเทาอมสีน้ำตาล เปลือกต้นด้านนอกเรียบเกลี้ยงหรือแตกเป็นร่องตื้น ๆ มีช่องระบายอากาศเป็นแนวตามยาวของลำต้น ส่วนเปลือกด้านในสีชมพูประขาว มีความเหนียว สามารถลอกออกจากลำต้นได้ง่าย
ใบ ใบเดี่ยวออกเรียงสลับ แผ่นใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ โคนใบกว้าง ใบกว้างประมาณ 7-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 8-15 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมเป็นหางยาว โคนใบเว้า ส่วนขอบใบเรียบ เนื้อใบค่อนข้างหนา ผิวใบด้านบนมีขนบาง ๆ ถึงเกลี้ยง ส่วนท้องใบเกลี้ยงหรือมีขนละเอียดรูปดาวสีขาว มีเส้นแขนงใบออกจากโคนใบประมาณ 7-9 เส้น และที่เส้นกลางใบอีก 4-6 เส้น ก้านใบเป็นสีแดงยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร และมีหูใบขนาดใหญ่ที่โคนก้านใบ ยาวประมาณ 3 เซนติเมตร และร่วงได้ง่าย
ดอก เป็นช่อกระจุกสั้นหรือเป็นช่อแขนง ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง อาจมีหนึ่งดอกหรือหลายดอก ช่อดอกยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ก้านดอกยาวประมาณ 1 เซนติเมตร มีใบประดับคล้ายหูใบ 1 คู่ ติดอยู่ที่โคนก้านดอก มีริ้วประดับประมาณ 7-10 กลีบ เชื่อมติดกันประมาณกึ่งหนึ่งของความยาว ส่วนปลายแยกเป็นแฉก มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ สีน้ำตาล ลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายกลีบแหลมและมีขนทั้งสอง ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ ลักษณะเป็นรูปไข่กว้างหรือไข่กลับ กลีบดอกบางเป็นสีเหลืองเรียงซ้อนเกยทับกัน บริเวณโคนกลีบด้านในเป็นสีม่วงหรือสีแดงเข้ม มีเกสรเป็นแกนยื่นออกมา เมื่อดอกเริ่มบานจะเป็นสีเหลือง และเมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 เซนติเมตร พอดอกโรยแล้วก็จะเปลี่ยนเป็นสีส้มหรือแดง และสามารถออกดอกได้เกือบตลอดทั้งปี หรือออกในช่วงประมาณเดือนมิถุนายนถึงเดือนสิงหาคม
ผล เป็นรูปทรงกลมหรือเป็นรูปไข่เกือบกลม มีขนาดกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร เปลือกผลแข็งและมีขนสั้นละเอียดคล้ายขนกำมะหยี่ ผลเมื่อแก่จะแตกเป็น 5 พู อ้าออกและติดอยู่กับต้น ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำอยู่เป็นจำนวนมาก ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปไต เกลี้ยง สามารถออกผลได้เกือบตลอดทั้งปี

   ถิ่นกำเนิด

ไม่พบข้อมูลถิ่นกำเนิด พบการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศอินเดีย จีน เอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงทางตอนเหนือของประเทศออสเตรเลีย

   การขยายพันธ์

เพาะเมล็ดและตอนกิ่ง

   การนำไปใช้ประโยชน์

1. ใบอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ 2. ใบใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย 3. ใยจากเปลือกต้นจะมีความเหนียวและคงทนกว่าปอ สามารถนำมาใช้ทำเชือก ทำกระดาษห่อของ เส้นใยสั้น เมื่อทำแล้วจะได้กระดาษที่มีคุณภาพต่ำ และยังใช้ทำหมันยาเรือได้ด้วย 4. เนื้อไม้ของต้นปอทะเลมีความถ่วงเพาะ 0.6 สามารถนำไปใช้ในงานไม้ได้ เช่น การทำเรือ (ชาวพื้นเมืองในฮาวายจะใช้เนื้อไม้มาทำเรือแคนู) 5. ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป 6. ในแถบเอเชียจะนิยมนำต้นปอทะเลมาทำบอนไซ

   สรรพคุณ

1. ใบสดนำมาคั้นเอาแต่น้ำใช้เป็นยาหยอดหู แก้หูอักเสบและหูเป็นฝี บดให้เป็นผงใช้เป็นยาใส่แผลสด แผลเรื้อรัง 2. ดอกนำมาต้มกับน้ำนม ทิ้งไว้ให้เย็น แล้วนำมาหยอดหูเพื่อรักษาอาการเจ็บในหู 3. รากใช้เป็นยาแก้ไข้ รักษาอาการไข้ เป็นยาระบายท้อง ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาขับปัสสาวะ 4. ใบอ่อนนำมาตากแห้งใช้ชงกับน้ำดื่มเป็นยาแก้ไอ แก้หลอดลมอักเสบ เป็นยาระบายอ่อน ๆ 5. เปลือกมีสรรพคุณทำให้อาเจียน เมือกที่ได้จากการนำเปลือกสดมาแช่กับน้ำ ใช้ดื่มเป็นยาแก้โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร