คำอธิบายของพรรณไม้

 พรรณไม้ : สะเดา

   ชื่อสามัญ

Margosa Tree, Siamese Neem Tree

   ชื่อวิทยาศาสตร์

Azadirachta indica A. Juss. var. siamensis Valeton.

   ชื่อวงศ์

MELIACEAE

   ชื่ออื่น ๆ

สะเลียม (ภาคเหนือ) กะเดา ไม้เดา เดา (ภาคใต้) กะเดา กาเดา (ภาคอีสาน)

   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ต้นขนาดกลาง สูง 5-10 เมตร เส้นรอบวงยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือคล้ายเจดีย์ เปลือกต้นแตกเป็นร่องเล็ก ๆ หรือเป็นสะเก็ดยาวตามลำต้น สีน้ำตาลเทาหรือเทาปนดำ เปลือกกิ่งอ่อนเรียบ ยอดอ่อนสีน้ำตาลแดง
ใบ ใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ใบย่อยรูปหอก กว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 4-8 เซนติเมตร โคนใบมนไม่เท่ากัน ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย แผ่นใบเรียบ สีเขียวเป็นมัน
ดอก ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่งขณะแตกใบอ่อน ดอกสีขาวนวล กลีบเลี้ยงมี 5 แฉก โคนติดกัน กลีบดอกโคนติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก
ผล ผลทรงรี ขนาด 0.8 - 1 เซนติเมตร ผิวเรียบ ผลอ่อนสีเขียว สุกเป็นสีเหลืองส้ม เมล็ดเดี่ยว รูปรี

   ถิ่นกำเนิด

ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของสะเดาอยู่ในบริเวณประเทศพม่าและประเทศอินเดีย

   การขยายพันธ์

ขุดหน่อที่แตกจากรากต้นสะเดามาชำในแปลงเพาะ และการเพาะเมล็ด ซึ่งเมล็ดสะเดาไม่สามารถเก็บไว้ได้นาน ดังนั้นเมื่อเก็บเมล็ดมาแล้วควรรีบเพาะทันที

   การนำไปใช้ประโยชน์

1. ยอดอ่อนและดอกอ่อนใช้รับประทานเป็นผักสดหรือใช้ลวกกินกับน้ำพริกหรือลาบ หรือนำมาทำเมนูอาหารคือสะเดาน้ำปลาหวาน 2. สารสกัดจากเมล็ดและใบ ใช้เป็นสารป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช 3. เปลือกต้นใช้สกัดทำสีย้อมผ้า ให้สีแดง ส่วนยางให้สีเหลือง 4. เมล็ดมีน้ำมันอยู่ประมาณ 40% สามารถนำมาใช้ทำเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ได้ นอกจากนี้ยังใช้ทำสบู่ เครื่องสำอาง และใช้ผสมยารักษาโรคต่าง ๆ

   สรรพคุณ

1. ดอกและยอดอ่อน แก้พิษโลหิต กำเดา แก้ริดสีดวงในลำคอ บำรุงธาตุ ขับลม 2. เปลือกต้น แก้ไข้ เจริญอาหาร แก้ท้องเดิน บิดมูกเลือด 3. ก้านใบ แก้ไข้ ทำยารักษาไข้มาลาเรีย 4. กระพี้ แก้ถุงน้ำดีอักเสบ 5. ยาง ดับพิษร้อน 6. แก่น แก้อาเจียน ขับเสมหะ 7. ราก แก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะ ซึ่งเกาะแน่นอยู่ในทรวงอก 8. ใบและผล ใช้เป็นยาฆ่าแมลง บำรุงธาตุ 9. ผล มีสารรสขม ใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ยาระบาย แก้โรคหัวใจเดินผิดปกติ 10. เปลือกราก เป็นยาฝาดสมาน แก้ไข้ ทำให้อาเจียน แก้โรคผิวหนัง 11. น้ำมันจากเมล็ด ใช้รักษาโรคผิวหนัง และใช้เป็นยาฆ่าแมลง