คำอธิบายของพรรณไม้

 พรรณไม้ : ข่อย

   ชื่อสามัญ

Siamese rough bush, Tooth brush tree

   ชื่อวิทยาศาสตร์

Streblus asper Lour.

   ชื่อวงศ์

MORACEAE

   ชื่ออื่น ๆ

ตองขะแหน่ (กาญจนบุรี), ส้มพอ (เลย ร้อยเอ็ด), ซะโยเส่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), กักไม้ฝอย (ภาคเหนือ), สะนาย (เขมร)

   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านค่อนข้างคดงอ มีปุ่มปมอยู่รอบ ๆ ต้นหรือเป็นพูเป็นร่องทั่วไป เปลือกต้นมีสีเทาอ่อน บาง ขรุขระเล็กน้อย แตกเป็นแผ่นบาง ๆ และมียางสีขาวข้นเหนียวซึมออกมา แตกกิ่งก้านมีสาขามาก แตกกิ่งต่ำเป็นพุ่มทึบ
ใบ ใบเดี่ยวเรียงสลับ ขนาดเล็ก แผ่นใบสีเขียว เนื้อใบค่อนข้างหนากรอบ ผิวใบสากคล้ายกระดาษทรายทั้งสองด้าน ลักษณะใบคล้ายรูปรีแกมรูปไข่หัวกลับ โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก มีความกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร
ดอก ออกดอกเป็นช่อ มีสีขาวเหลืองอ่อน โดยจะออกปลายกิ่งตามซอกใบ ดอกเดี่ยวแต่รวมกันเป็นกระจุก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่ต่างดอกกัน
ผล ผลสดมีลักษณะกลมสีเขียว ผลคล้ายรูปไข่ มีขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมล็ดมีขนาดโตเท่ากับเมล็ดพริกไทย มีเนื้อเยื่อหุ้ม ส่วนผลแก่จะมีสีเหลืองใสและมีรสหวานและเป็นที่ชื่นชอบของพวกนกเป็นอย่างมาก

   ถิ่นกำเนิด

มีถิ่นกำเนิดแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย

   การขยายพันธ์

นิยมขยายพันธุ์ด้วยการใช้รากปักชำ เพราะเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการใช้กิ่งปักชำหรือการเพาะเมล็ด

   การนำไปใช้ประโยชน์

1. กิ่งนำมาทุบให้นิ่มใช้ทำแปรงสีฟันแทนการใช้แปรงสีฟันช่วยทำให้ฟันแข็งแรง 2. ไม้นำมาใช้ทำกระดาษ ทำเป็นสมุดไทยหรือสมุดข่อย 3. เปลือกนำมาใช้ทำเชือกป่าน 4. นิยมปลูกเพื่อทำรั้ว หรือปลูกไว้เพื่อดัดปรับแต่งเป็นรูปต่าง ๆ ที่เรียกว่าไม้ดัด (ต้นข่อยดัด)

   สรรพคุณ

1. เมล็ด รับประทานเป็นยาอายุวัฒนะได้ ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยขับลมในลำไส้ 2. เปลือก ต้มกับเกลือจะได้เป็นยาอมช่วยแก้รำมะนาดได้ นำมาม้วนทำเป็นยาสูบ มีสรรพคุณช่วยแก้ริดสีดวงจมูก ต้มกับน้ำแล้วรับประทานช่วยแก้ไข้ ช่วยดับพิษภายในร่างกาย แก้อาการท้องร่วง ช่วยขับลมในลำไส้ ใช้ทาริดสีดวง เปลือกสดช่วยรักษาแผล รักษาโรคผิวหนัง ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ แก้พยาธิผิวหนัง 3. กิ่งสด ประมาณ 5-6 นิ้ว นำมาหั่น ต้มใส่เกลือ เคี่ยวให้งวด เหลือน้ำแค่ครึ่งเดียว นำมาอมเช้าและเย็นช่วยทำให้ฟันทนแข็งแรง ฟันไม่ผุ ไม่ปวดฟัน 4. เมล็ด รับประทานหรือต้มแล้วอมบ้วนปากช่วยฆ่าเชื้อในช่องปากและทางเดินอาหารได้ 5. ใบสด นำมาปิ้งไฟชงกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาระบายอ่อน ๆ นำใบมาคั่วให้แห้งแล้วชงกับน้ำดื่มช่วยบรรเทาอาการปวดของมดลูกในระหว่างมีประจำเดือน 6. ราก ช่วยรักษาแผลได้ 7. เนื้อและแก่น ชาวเชียงใหม่ใช้แก่นข่อยนำมาหั่นเป็นฝอยแล้วมวนเป็นบุหรี่ไว้สูบเพื่อแก้ริดสีดวงจมูก 8. ยางมีน้ำย่อยที่ชื่อว่า milk (lotting enzyme) มีประโยชน์ในการช่วยย่อยน้ำนม


แผนที่แสดงพิกัดของข่อยภายในมหาวิทยาลัยจำนวน 3 ต้น