คำอธิบายของพรรณไม้

 พรรณไม้ : หว้ายักษ์

   ชื่อสามัญ

Jambolan Plum

   ชื่อวิทยาศาสตร์

Syzygium cumini (L.) Skeels

   ชื่อวงศ์

MYRTACEAE

   ชื่ออื่น ๆ

หว้ายักษ์อินเดีย, หว้าขี้แพะ, หว้าขี้นก, หว้าป่า (ทั่วไป), มะห้า, ห้า, มะเกี๋ยง (ภาคเหนือ), กรีแย (มลายู)

   ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ สูง 10-35 เมตร ทรงพุ่มกลมรูปไข่ เปลือกต้นชั้นนอกเรียบ สีเทาอ่อน หลุดลอกเล็กน้อย ส่วนเปลือกด้านในมีสีแดง กิ่งอ่อนเป็นรูปสี่เหลี่ยม
ใบ ใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้าม เป็นรูปรี หรือ รูปไข่กลับ แผ่นใบมีสีเขียวหนา และเหนียวมีขนาดกว้าง 3-9 เซนติเมตร ยาว 8-15 เซนติเมตร โคนใบมนปลายใบเรียวแหลม มีจุดน้ำมันที่บริเวณขอบใบ และมีก้านใบยาว 0.5-3 เซนติเมตร มีเส้นใบ 19-30 คู่
ดอก ออกเป็นช่อแบบช่อกระจุก ยาว 5-10 เซนติเมตร บริเวณซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยมีสีเขียวอมเหลือง 30-40 ดอก ขนาดของดอกมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1-1.5 เซนติเมตร กลีบดอกมี 4 กลีบ เชื่อมเป็นถุงดอกตูมและหลุดเมื่อดอกบาน กลีบมีต่อมเป็นจุดๆ และมีเกสรตัวผู้จำนวนมาก
ผล ผลต้นหว้ามีสีเขียวอ่อน แล้วจะไล่สีไปตามอายุ คือ สีชมพู สีม่วงแดง และสีม่วงดำเมื่อสุก ผลมีลักษณะเป็นรูปทรงรี มีความฉ่ำน้ำ มีขนาดประมาณ 1-3 เซนติเมตร ผิวมีความเรียบมันวาว มีเมล็ด 1 เมล็ด ลักษณะเป็นรูปทรงไข่ ออกผลเดินธันวาคมถึงมิถุนายน

   ถิ่นกำเนิด

มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในเขตร้อนของทวีปเอเชียตั้งแต่อินเดียศรีลังกา เนปาล มังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา มาเลเซีย อินโดนีเซีย

   การขยายพันธ์

ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดและตอนกิ่ง

   การนำไปใช้ประโยชน์

1. นิยมปลูกไว้ในบริเวณบ้าน ช่วยให้ร่มเงา ให้ความร่มรื่นแก่บ้านเรือน 2. ผลอ่อนมีสีแดงฝาด เมื่อแก่จัดมีสีดำม่วง รสชาติเปรี้ยวอมหวาน สามารถรับประทานแบบสด หรือนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม แยม 3. เปลือกไม้สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของการทำอาคารบ้านเรือน 4. ยอดอ่อนของหว้าสามารถนำมารับประทานเป็นผักสดได้

   สรรพคุณ

1. เปลือกมีรสฝาดรับประทานเป็นยาแก้บิด ต้มในน้ำเดือด แล้วอมแก้ปากเปื่อย คอเปื่อยและเป็นเม็ดแก้น้ำลายเหนียว 2. ใบและผลต้มในน้ำเดือด รับประทานแก้บิด ท้องร่วง ถ่ายเป็นมูกเลือด 3. เมล็ดในลูกหว้าต้มในน้ำเดือด รับประทานแก้ปัสสาวะมาก แก้ท้องร่วงและบิด และถอนพิษแสลงใจ (พิษแสลงใจ หมายถึงอาการใจหวิว ใจสั่น หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ) 4. ใบและเมล็ดหว้านำมาต้มหรือบดให้ละเอียด รับประทานเพื่อรักษาอาการของโรคเบาหวานได้ เนื่องจากมีสารชนิดหนึ่งที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ นำมาตำให้แหลกแล้วใช้ทารักษาโรคผิวหนังได้ หรือนำน้ำที่ได้มาล้างแผลเน่าเปื่อยได้ 5. ผลอ่อนมีสีแดงฝาด เมื่อแก่จัดมีสีดำม่วง รสชาติเปรี้ยวอมหวาน สามารถรับประทานแบบสด หรือนำไปแปรรูปเป็นเครื่องดื่ม แยม มีสารแอนโทไซยานิน เป็นสารที่ต้านอนุมูลอิสระ หรือสารต้านโรคมะเร็ง มีธาตุเหล็กที่จะช่วยบำรุงเลือด ฟัน และกระดูก