คำอธิบายของพรรณไม้
พรรณไม้ : แก้ว
Orang Jessamine
Murraya paniculata (L.) Jack.
RUTACEAE
กะมูนิง (มลายู-ปัตตานี); แก้ว, แก้วขาว (ภาคกลาง); แก้วขี้ไก่ (ยะลา); แก้วพริก, ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ); แก้วลาย (สระบุรี); จ๊าพริก (ลำปาง)
ลำต้น ไม้พุ่มกึ่งไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็ก มีความสูงของต้นประมาณ 5-10 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลม แตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกลมแน่นทึบ เปลือกลำต้นเป็นสีเทาปนขาวแตกเป็นร่อง ๆ เนื้อไม้สีขาวนวล ขยี้ใบดมมีกลิ่นฉุนเผ็ดร้อน
ใบ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายใบคี่ ออกเรียงสลับ มีใบย่อยประมาณ 5-9 ใบ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ ปลายและโคนใบแหลม ขอบใบเป็นคลื่นหรือหยักมนเล็กน้อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1-3 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2-7 เซนติเมตร แผ่นใบคล้ายแผ่นหนังบาง ๆ หลังใบเป็นสีเขียวเข้มเป็นมัน ส่วนท้องใบเรียบมีสีอ่อนกว่า ใบมีต่อมน้ำมัน เมื่อขยี้จะมีกลิ่นฉุนคล้ายผิวส้มเป็นน้ำมันติดมือ
ดอก ออกดอกเป็นช่อสั้น ๆ ตามซอกใบ ดอกย่อยเป็นสีขาวและมีกลิ่นหอมจัด กลีบดอกมี 5 กลีบ หลุดร่วงได้ง่าย กลีบดอกมีลักษณะเป็นรูปกลมรี ยาวประมาณ 2-2.5 เซนติเมตรและกว้างประมาณ 7-9 มิลลิเมตร โคนกลีบดอกติดกัน ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวน 10 ก้าน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบเล็กมาก สามารถออกดอกได้ตลอดทั้งปี ส่งกลิ่นหอมแรงช่วงพลบค่ำถึงเช้ามืด
ผล ลักษณะของผลเป็นกลมรีหรือเป็นรูปไข่ ปลายสอบเล็กน้อย ผลมีขนาดกว้างประมาณ 5-8 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 1 เซนติเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียว เมื่อสุกเป็นสีแดงอมส้ม ผิวผลมีต่อมน้ำมันเห็นได้ชัดเจน ภายในผลมีเมล็ดประมาณ 1-2 เมล็ด เมล็ดมีลักษณะรีหรือเป็นรูปไข่ ปลายสอบ มีขนหนาและเหนียวหุ้มโดยรอบเมล็ด สีขาวขุ่น เมล็ดมีขนาดกว้างประมาณ 4-6 มิลลิเมตรและยาวประมาณ 6-9 มิลลิเมตร
เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศจีน และในออสเตรเลีย
การตอน เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เพราะเป็นพันธุ์ไม้หอมที่ออกรากได้ง่ายใช้เวลาในการตอนประมาณ 21 - 35 วันแล้วแต่ฤดูกาล
การเพาะเมล็ด ยังไม่มีการเก็บข้อมูล แต่พบต้นขนาดเล็กตามพื้นดินบริเวณต้นแก้วที่ติดผล แสดงว่าสามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด
1. ปลูกเป็นไม้ประดับเพื่อความสวยงาม ดอกมีกลิ่นหอม ทนต่อแสงแดด
2. สีจากใบแก้วใช้ย้อมไหมให้สีเขียว
3. เนื้อไม้ใช้ทำหีบ เครื่องเรือน เครื่องมือการเกษตร และวัสดุใช้งานอื่นๆ อาทิ ด้ามมีด คาน ไม้ถือ หวี ด้ามร่ม ใช้แกะสลักเครื่องดนตรีไทย เช่น ซออู้ ซอด้วง
4. น้ำมันหอมระเหยใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง
1. ใบสดที่โตเต็มที่ มีรสปร่า หอม ใช้ใบสด 15 ใบย่อย หรือน้ำหนัก 1 กรัม ตำพอแหลก ใส่ในเหล้าโรงประมาณ 2 ช้อนชา หรือ 8 มิลลิลิตร ทิ้งไว้ 3 - 5 นาที นำน้ำยาทาบริเวณที่ฟันปวด บรรเทาอาการปวดฟัน เนื่องจากมีน้ำมันหอมระเหยที่ออกฤทธิ์เป็นยาชา
2. ใช้รากแห้ง 10-15 กรัม (สด 30-60 กรัม) ต้มกับน้ำ 2 ถ้วยแก้ว เคี่ยวให้เหลือ 1 ถ้วยแก้ว รับประทานวันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร เช้า-เย็น เป็นยาขับประจำเดือน
ใช้ปรุงเป็นยาขับระดู เรียกว่ายาประสะใบแก้ว ใช้เป็นยาแก้จุกเสียด แน่นเฟ้อ บำรุงโลหิต